เจียรจานเบรค คือ การปรับสภาพพื้นผิวของจานให้กลับมามีความเรียบเนียนเสมือนเป็นจานใหม่ แม้จะมีขนาดที่บางลงแต่ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่หลักอย่างการเป็นตัวรับแรงเสียดทานของผ้าเบรคนั้นก็สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว
ส่วนเหตุผลต่าง ๆ ที่หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องมีการเจียรจานเบรค สิ่งนี้มีความจำเป็นไหม แล้วทำไปเพื่ออะไร พร้อมกับรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถทำได้และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื้อหาที่เราเตรียมมาวันนี้พร้อมพาคุณทัวร์ระบบดิสก์เบรคอีกครั้ง ลุยกันเลย!
หน้าที่ของจานเบรค
เรามาขยายความตรงส่วนนี้กันอีกสักหน่อย อันดับแรกเลยเรามาเริ่มกันที่หน้าที่ของจานเบรค ซึ่งสิ่งนี้มีหน้าที่รับแรงเสียดทานจากผ้าเบรค เป็นส่วนประกอบที่อยู่ด้านในสุดของ “ระบบดิสก์เบรค” โดยตามกลไกลนั้น เมื่อต้องรับแรงเสียดทานจากผ้าเบรคอยู่เสมอ ทำให้ตัวจานนั้นมีโอกาสสึกหรอ หรือแม้กระทั่งพวกคราบสกปรกต่าง ๆ จากการใช้งาน รวมถึงเศษของผ้าเบรค โดยเฉพาะหากเป็นผ้าเบรคแบบเก่าที่เป็นกึ่งโลหะ ยิ่งมีโอกาสสร้างความเสียหายกับตัวจานได้มากกว่าผ้าเบรคเซรามิค
จุดประสงค์ของการเจียรจาน
ที่ได้กล่าวไปในช่วงแรกว่าสิ่งนี้นั้นเป็นการปรับสภาพพื้นผิวของจานให้กลับมาเรียบเนียน โดยใช้เครื่องเจียร หรือเครื่องกลึงตามแต่เทคนิคของช่างแต่ละคนปาดที่ผิวหน้าของจานเพื่อขจัดเศษเล็กเศษน้อย กำจัดเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการกัดกร่อนหลังการใช้งาน หรือแม้แต่สนิม หากเป็นไม่เยอะก็ใช้วิธีนี้ได้เหมือนกัน
จุดประสงค์คือทำให้ผิวของจานนั้นกลับมาเสมอกันทั่วทั้งใบ เพื่อที่สุดท้ายแล้วจานจะสามารถรองรับผ้าเบรคได้เรียบสนิทที่สุด ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้เบรคของรถคุณกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่
วิธี ขั้นตอนการเจียรจานเบรครถยนต์
ขั้นตอนการเจียรจานเบรคนั้นอยู่ที่แต่ละอู่นั้นใช้วิธีการแบบไหน และก็อยู่ที่เทคนิคของช่างแต่ละคนด้วย แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะมีวิธีอยู่ 2 ประเภทที่นิยมใช้กันในบ้านเรา คือ การเจียรแบบประชิดล้อ กับ เจียรแบบถอดจานออกมาที่แท่นเจียรหรือเครื่องกลึง
- เจียรประชิดล้อ วิธี “เจียรจานเบรคประชิดล้อ” ก็ตามชื่อเลย เป็นการเจียรแบบไม่ต้องถอดจานเบรคออกมาจากซุ้มล้อ ลักษณะการเจียรแบบนี้จะนำเครื่องเจียรที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเข้ามาประชิดกับจาน เทคนิคนี้มีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถปรับสมดุลของจานได้ที่ตัวรถเลย แต่อาจจะไม่สามารถเลือกมุมได้อิสระ เนื่องจากอยู่ติดกับซุ้มล้อ
- เจียรแบบถอดออกมาที่แท่น การทำโดยวิธีนี้จะมีขั้นตอนมากกว่าแบบประชิด รวมถึงใช้ระยะเวลามากกว่า เพราะต้องถอดตัวจานออกมาทำที่แท่นเจียร หรืออาจะเป็นเครื่องกลึง ตามความถนัดของแต่ละอู่รวมถึงเทคนิคของช่างแต่ละคน ข้อดีคือสามารถปรับมุมปรับองศาของใบมีดเจียรได้อิสระกว่า สามารถดูตัวอย่างได้ที่คลิปด้านล่างนี้
อาการที่บอกถึงปัญหา
รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานมาสักพักจนถึงระยะที่ควรเปลี่ยนผ้าเบรค หากมีอาการเบรคแล้วพวงมาลัยสั่น มีอาการแปันเบรคสู้เท้า มีเสียงดังยามใช้เบรค บางทีอาจเกิดขึ้นเพราะจานเบรคไม่เรียบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของช่างหน้างานด้วย
ในข้อนี้เราสามารถเช็คดูพร้อมกับช่างได้ หลัก ๆ คือหากโดยทั่วไปแล้วจานเบรคดั้งเดิมที่ติดมากับโรงงานมักจะออกแบบมารองรับการเปลี่ยนผ้าเบรค 2 ครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนผ้าเบรคก็จำเป็นต้องเช็คจานเบรคด้วยว่ามีพวกฝุ่นกรวดทรายหรือเศษต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้จานนั้นเกิดร่องเป็นรอยไม่เรียบเนียนนอกเหนือจากการใช้งาน จนเกิดเป็นสาเหตุของอาการที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง
สรุปแล้ว “เจียรจานเบรค” จำเป็นไหม?
หากเป็นแค่ร่องที่เกิดจากการรับแรงเสียดทานของเบรค แต่ไม่ได้มีเสียง ไม่ได้มีอาการอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จริง ๆ แล้วยังไม่จำเป็นต้องเจียรจานก็ได้
แต่ถ้าจานเบรคคด จานเบรคงอ หรือมีปัญหาอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากร่องรอยปกติ การเจียรหน้าผิวจานให้เรียบ ปาดผิวจานให้สมดุล แม้ประสิทธิภาพจะไม่เท่ากับการเปลี่ยนจานเบรคเลยแบบเต็มร้อย แต่ก็สามารถทำให้จานกลับมาใช้งานปกติได้เช่นกัน แถมยังประหยัดงบในส่วนนี้ได้พอสมควรเลยทีเดียว